หลักการของหลักสูตร
-
มุ่งเน้นการพัฒนานักเรียนรอบด้าน ทั้งพุทธศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา
-
มุ่งเน้นการจัดสาระการเรียนรู้รายวิชาพื้นฐานให้ครอบคลุมหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ของกระทรวงการศึกษาธิการ
-
มุ่งเน้นการจัดสาระการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ นักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาและเทคโนโลยี
-
มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามอุดมการณ์และเป้าหมายของโรงเรียน
-
การจัดการศึกษามุ่งเน้นการส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการเรียนรู้ ทักษะชีวิต ปรับตัวกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง พัฒนานักเรียนให้รู้จักใช้ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และคุณธรรม แก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อเตรียมตัวนักเรียนให้พร้อมในการเรียนระดับอุดมศึกษาและการประกอบอาชีพต่อไป
แนวทางการจัดการเรียนการสอน
การจัดการหลักสูตรการศึกษา มุ่งเน้นพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยใช้พื้นฐานของการคิดจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ความสามารถทางด้านทักษะการสื่อสารโดยใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ สืบค้นข้อมูล และพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านกระบวนการเรียนการสอนตามผลวิจัยหรือนวัตกรรมการเรียนการสอนโดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาขึ้น สอดแทรกกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพ ภาษาต่างประเทศ และ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ดำเนินการ ดังนี้
ระดับประถมศึกษา มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ โดยเน้นใช้หลักของการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach)
ระดับมัธยมศึกษา เน้นภาวะผู้นำ จริยธรรม การทำงานและการเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้ผ่าน KKU SMART Learning
โดยการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ จะถูกออกแบบและอยู่ภายใต้กระบวนการ Active Learning ที่เน้นให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง และในแต่ละชั้น นักเรียนจะได้เรียนรู้วิชา สังคม วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ (Bilingual Program)
และนอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน นักเรียนจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ผ่านกิจกรรมทัศนศึกษาและการเข้าค่ายบริการวิชาการทั้งในและนอกสถานที่ อันเป็นมุมมองของการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายและสามารถประเมินผลนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาโดยศึกษาวิเคราะห์จากมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดของรายวิชาต่าง ๆ จากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสาระสำคัญของหลักสูตรสถานศึกษาฉบับนี้ จะเห็นได้ชัดว่า มีเนื้อหาสาระและกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชาบังคับและรายวิชาพื้นฐานครอบคลุมเนื้อหาสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และมีรายวิชาเพิ่มเติมที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเทคโนโลยี
หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง จากแหล่งการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านสารสนเทศที่หลากหลาย มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี และใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนรู้ครอบคลุมทุกสาระวิชา โดยจัดแผนการเรียนให้นักเรียนได้เรียนตามความถนัดและความสนใจของตนเอง ประกอบไปด้วย
1) หลักสูตรประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6) เป็นหลักสูตรสองภาษา (Bilingual Program of Sciences and Technology) เน้นให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ในวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Intensive Mathematics English Technology Sciences)
2) หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3) เป็นหลักสูตรสองภาษา (Bilingual Program of Sciences and Technology) เน้นให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการใช้เทคโนโลยี (KKU SMART Learning) ในวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Intensive Mathematics English Technology Sciences) รวมถึงนักเรียนจะได้เรียนรู้นอกชั้นเรียน สถานการณ์จริงและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
3) หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6) เป็นหลักสูตรกึ่งสองภาษา (Mini Bilingual Program) โดยเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ และสังคมศึกษา ภายใต้นวัตกรรมการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างรอบด้าน โดยหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายแบ่งออกเป็น
3.1) หลักสูตรวิทยาศาสตร์ (Bilingual Program of Sciences) เป็นหลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนเรียนรู้และพัฒนาความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์อย่างเติมประสิทธิภาพ โดยพัฒนาไปพร้อมกับวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีสาระสนเทศ และอื่น ๆ
3.2) หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Bilingual Program of Sciences and Technology) เป็นหลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนเรียนรู้และพัฒนาความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเติมประสิทธิภาพ รวมถึงวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และอื่น ๆ
3.3) หลักสูตรภาษาและสังคมศึกษา (Bilingual Program of Languages and Social Studies) เป็นหลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสื่อสารโดยใช้ภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น ทักษะการสื่อสาร การใช้ภาษา ตลอดจนนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง รวมถึงวิชาสังคมศึกษา และอื่น ๆ เพื่อให้นักเรียนใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในสังคมปัจจุบัน หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย จึงไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังเน้นกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เช่น กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพ กิจกรรมทางด้านภาษา เป็นต้น ดังคำที่ว่า “ลดเวลาเรียนและเพิ่มเวลารู้” เพื่อเปิดโลกทัศน์ทั้งด้านวิชาการและส่งเสริมพัฒนาให้นักเรียนผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง หรือเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต สอดคล้องและเท่าทันกับการศึกษาในยุค Thailand 4.0 ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ผู้เรียนดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพเท่าทันการแข่งขันในประชาคมโลก